ประเทศเนปาล
มีชื่อเต็มว่า สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล    เมืองหลวง คือ กรุงกาฐมาณฑุ

เนปาล เป็นประเทศหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ในแง่ความหลากหลายทางด้านชีววิทยา เนื่องมาจากสภาพภูมิศาสตร์มีพื้นที่เป็นภูเขาสูง เหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ ๖๐ เมตร จนถึงจุดสูงสุดของโลกคือยอดเขาเอเวอร์เรสต์ (๘,๘๔๘ เมตร) และยังมีภูมิอากาศที่ผันแปรแตกต่างกันไป ตั้งแต่ภูมิอากาศแบบเขตร้อนถึงแบบอาร์กติก มีป่าเมืองร้อนที่อุดมไปด้วยสัตว์ป่ามากมาย แม่น้ำที่เชี่ยวกราก รวมถึงหุบเขาที่หนาวเย็นเป็นน้ำแข็ง

ประเทศ เนปาลเอง เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และมีภาษามากถึง ๗๐ ภาษา เนื่องจากประเทศเนปาลเป็นแหล่งรวมผู้คนหลายเชื้อชาติและหลายชนเผ่าที่มีภาษา พูดและภาษาท้องถิ่นและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ประเทศเนปาลยังเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation/SAARC) ซึ่งประกอบไปด้วย เนปาล บังคลาเทศ ภูฎาน อินเดีย มัลดีฟส์ ปากีสถาน และศรีลังกา
ประชากร

เนปาลมีจำนวนประชากรประมาณ ๒๗ ล้านคน(สถิติปี พ.ศ.๒๕๔๘) ประกอบ ด้วยพวกมองโกลอยด์ซึ่งมาจากทิเบต สิกขิม และบริเวณภูเขาในแคว้นอัสสัมและเบงกอล ส่วนอีกพวกหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากอินโดอารยันซึ่งอพยพมาจากที่ราบลุ่มทางตอน เหนือของอินเดีย
ทรัพยากรธรรมชาติ

ด้านการเกษตรของเนปาล ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ยาสูบ ข้าวสาลี่ ถั่ว และมันฝรั่ง

แร่ธาตุที่สำคัญของเนปาล ได้แก่ ไมก้า ลิกไนต์ ทองแดง โคบอลต์ แร่เหล็ก พลวง และตะกั่ว

ภาษา

นอกจากชนเผ่าต่างๆ มีภาษาของตนเป็นภาษาท้องถิ่นแล้ว แต่เนปาลก็มีภาษาประจำชาติที่มีการประดิษฐ์ขึ้นในแบบตัวอักษรเทวนาครี (Devanagari) ถือ เป็นภาษากลางที่ใช้ในเนปาล โดยมีรากฐานมาจากอินเดียทางภาคเหนือ นอกจากนี้ผู้ที่มีการศึกษาสามารถพูดและเข้าใจภาษาอังกฤษได้ดีอีกด้วย

ธงชาติ

ธง ชาติเนปาลประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ มีลักษณะที่แตกต่างจากธงประจำชาติของประเทศอื่นๆ คือรูปร่างของธงชาติเดินด้วยสีน้ำเงินพื้นเป็นสีแดง มีสัญลักษณ์สีขาวอยู่ตรงกลางของสามเหลี่ยม ชิ้นบนเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวอันหมายถึงพระมหากษัตริย์ และชิ้นล่างเป็นรูปพระอาทิตย์ อันหมายถึงอำนาจแห่งตระกูลรานะ

เวลา

เวลาของเนปาลช้ากว่าประเทศไทย ๑ ชั่วโมง ๑๕ นาที

การเงิน

เนปาลมีหน่วยเงินเป็นรูปี ๑ บาท =๒.๑๐ รูปี (วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒)

การแลกเงิน

นักท่องเที่ยวสามารถรับเงินจากที่ใดก็ได้ในโลกผ่านทางธนาคารเวสต์เทิร์นยูเนียนที่ดูร์บาร์ มาร์ก หรือที่สนามบินนานาชาติตรีภูวัน (Tribhuvan Internation Airport)

ภูมิประเทศและภูมิอากาศ

ประเทศเนปาลแบ่งออกเป็น 3 เขตภูมิภาค ได้แก่

. เขตเทือกเขาหิมาลัย (Himalayan Region) ประกอบไปด้วย 8 ยอดเขาของโลก (จากทั้งหมด ๑๔ ยอดเขา) ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเกิน ๘,๐๐๐ เมตร เช่น ยอดเขาเอเวอเรสต์ซึ่งมีความสูง ๘,๘๔๘ เมตร

. เขตภูเขา (Mountain Region) มีพื้นที่ถึง ๕๕ % จากพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ เขตนี้ถูกแบ่งโดยเทือกเขามหาภารตะ (Mahabharat) ซึ่งมีความสูงถึง ๔,๘๗๑ เมตร และในด้านใต้มีเทือกเขาชุเรีย (Churia) ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ ๖๑๐-๑,๕๒๔ เมตร

.เขตเตไร (Terai Region) เป็นเขต ที่ราบต่ำซึ่งมีความกว้างประมาณ ๒๖-๓๒ กิโลเมตร

สภาพอากาศ

สภาพ อากาศในประเทศเนปาลแตกต่างไปตามลักษณะภูมิประเทศ ตั้งแต่ลักษณะภูมิอากาศเขตร้อนไปถึงแบบอาร์ติก ซึ่งขึ้นอยู่กับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล

ประเทศเนปาลมี ๔ ฤดู ได้แก่

.ฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม-พฤษภาคม) มีอากาศที่อบอุ่น แต่ก็อาจจะมีฝนตกประปราย อุณหภูมิสูงสุด ๓๐ องศาเซลเซียส ต่ำสุด ๗ องศาเซลเซียส

.ฤดูร้อน (มิถุนายน-สิงหาคม) มีอากาศที่อบอุ่นถึงร้อนแต่ก็มีพายุฝน ตามเทือกเขาจะเขียวชอุ่ม อุณหภูมิสูงสุด ๒๙ องศาเซลเซียส ต่ำสุด ๑๙ องศาเซลเซียส

.ฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-พฤศจิกายน) มีอากาศอบอุ่นและเย็นบางเวลา ท้องฟ้าแจ่มใสเหมาะกับการเดินเขาเป็นอย่างยิ่ง อุณหภูมิสูงสุด ๒๘ องศาเซลเซียส ต่ำสุด ๗ องศาเซลเซียส

.ฤดูหนาว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) มีอากาศเย็นจัดตลอดกลางคืนและรุ่งเช้า และมีหมอกหนา ยกเว้นในช่วงที่มีแสงจากดวงอาทิตย์อากาศจะอบอุ่น อุณหภูมิสูงสุด ๑๙ องศาเซลเซียส ต่ำสุด ๒ องศาเซลเซียส

ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม

ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักในประเทศเนปาล โดยมีชาวเนปาลที่นับถือศาสนาฮินดู ๘๐.๖ % และศาสนาพุทธ (นิกายมหายาน) ๑๐.๗ % ศาสนาอิสลาม ๔.๒ %

สถาปัตยกรรม ที่งดงามและการตกแต่งเจดีย์รูปแบบเนปาลที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ทำจากทอง เหลืองและหินที่สวยงาม วัดและสถูปได้รับการสร้างจากงานไม้แกะสลัก งานช่างเหล็กและงานปั้นหิน ลักษณะเด่นเหล่านี้ทำให้ประเทศเนปาลมีภาพลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ และวิจิตรงดงาม

ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อของชาวเนปาลในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะทาง ภูมิศาสตร์ เช่น บริเวณที่ติดกับจีนด้านทิเบตก็จะคล้ายกับทิเบต พวกที่อยู่ติดกับอินเดียก็จะคล้ายอินเดีย เป็นต้น
ประวัติศาสตร์เนปาล

ราชอาณาจักรเนปาลมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า ๒,๐๐๐ ปี โดยเริ่มจากชนเผ่า Kirates ในเขตหุบเขากาฐมาณฑุ ต่อมาในราวคริสต์วรรษที่ ๔ ตระกูลลิจฉวี (Lichhavis) ได้ปกครองดินแดนแถบนี้ โดยได้รับอิทธิพลฮินดูและพุทธจากอินเดีย ประวัติศาสตร์เนปาลได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นเมื่อราชวงค์มัลละ (Malla) ได้ปกครองพื้นที่ทางตะวันตกของเนปาล และหุบเขากาฐมาณฑุ (Kathmandu Valley) ทั้ง หมด ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๑ ต่อมาราชอาณาจักรของราชวงค์มัลละถูกแบ่งออกเป็น ๓ อาณาจักรคือ กาฐมาณฑุ ภักตะปุร์ ละลิตปุร์(ปะฏัน) และกีรติปุร์ (ราชอาณาจักร Bhadgaon และราชอาณาจักร Patan)

กษัตริย์ แห่งราชวงศ์มัลละผู้ปกครองกรุงกาฐมาณฑุได้ให้การสนับสนุนในด้านศิลปะและ วัฒนธรรมอย่างเต็มที่ ต่อมามีการรณรงค์ในเรื่องการรวมชาติโดยกษัตริย์ปฤถวี นารายยัณชาห์ มหาราช (King Prithvi Narayan Shah the Great) ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นต้น ราชวงศ์ชาห์ในปัจจุบัน กษัตริย์ปฤถวีนารายัณ ชาห์ มหาราชาได้สถาปณาราชอาณาจักร Gorkha โดย รวบรวมอาณาจักรทั้งหมดของเนปาลเป็นอาณาจักรเดียว ต่อมาเนปาลได้รับชัยชนะในการทำสงครามกับผู้มารุกราน อาทิอังกฤษด้านอินเดีย และจีนทางด้านทิเบต ในช่วงนี้เนปาลปกครองโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประเทศในบรรดาศักดิ์ “รานะ” (Rana) ที่สืบทอดกันมาในตระกูล Shamsher ประมาณ ๑๐๐ ปี ช่วงดังกล่าวกษัตริย์เป็นประมุขแต่เพียงในนามเท่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๓ อำนาจในการบริหารประเทศจึงกลับคืนมาสู่กษัตริย์อีกครั้งซึ่งในขณะนั้นคือ สมเด็จพระราชาธิบดีตรีภูวัน (Tribhuvan) และขณะเดียวกัน พรรค Nepali Congress (NC) ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกในเนปาล กษัตริย์แห่งราชวงศ์ชาห์ได้ขึ้นครองราชย์ปกครองประเทศต่อจากราชวงศ์มัลละ

การปฏิวัติในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นการสิ้นสุดช่วงการปกครองโดยบรรณาศักดิ์รานะ ที่ปกครองประเทศเป็นระยะเวลา ๑๐๔ ปี (พ.ศ. ๒๓๘๙-๒๔๙๓) หลัง จากการล่มสลายของการปกครองโดยตระกูลของรานะในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๔ เนปาลเริ่มให้ความสนใจกับระบอบการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย จากนั้นได้มีการนำการปกครองแบบรัฐสภาที่มีรัฐบาลผสมมาใช้ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ สมเด็จพระราชาธิบดีมเหนทรา (Mahendra) ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ และได้จัดให้มีการเลือกตั้ง โดยมีนาย B.P. Koirala หัวหน้าพรรค NC ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดการปกครองให้เป็นระบบปัญจยัต (Panchayat System) หรือระบบรัฐสภาแบบสภาเดียวและไม่มีพรรคการเมือง

ช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๓ มีการชุมนุมประท้วงและก่อการจราจลเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยแบบมีพรรคการเมืองหลายพรรค (Multi-Party System) โดยมีการแทรกแซงจากชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดีย เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓  สมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทรา บีร์ บิกรัม ชาร์เทพ (Birendra Bir Bikram Shah Dev) ทรง ประกาศยกเลิกข้อห้ามที่มิให้มีพรรคการเมืองและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมือ่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutinal Monarchy) มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ รัฐสภาเนปาลได้ผ่านกฎหมายที่จะเปลี่ยนเนปาลเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย โดยมีผลหลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๑

ใน วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐบาลเนปาลประกาศยกเลิกระบอบกษัตริย์ สถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยขึ้น โดยกำหนดให้ชญาเนนทระและพระบรมวงศานุวงศ์ต้องเสด็จออกจากพระราชวังภายใน ๑๕ วัน และกำหนดให้วันที่  ๒๘-๓๐ พฤษภาคม เป็นวันหยุดราชการ

ใน ปัจจุบัน เนปาลเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีนายราม บารัน ยาดัฟ เป็นประธานาธิบดีคนแรก (พ.ศ.๒๕๕๒) จากการลงคะแนนเสียงของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ๓๐๘ เสียง และนายคีรีชา ปราสาท โกอีราละ อดีตรักษาการณ์ประมุขแห่งรัฐทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อันนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ลัทธิเหมา หรืออดีตกลุ่มกบฏลัทธิเหมา ซึ่งมีนายประจันดา เป็นผู้นำ

Facebook Comments