พระนวกโพธิในโครงการบรรพชา-อุปสมบท เพื่อปฏิบัติธรรม ณ แดนพุทธภูมิ น้อมถวายเป็นพุทธบูชา #บิณฑบาตโปรดชาวเมืองนครกบิลพัสดุ์
“จากวัด เข้าเวียน ฉันวัง สังวร”
เช้าวันนี้ 14 กันยายน 2561 เวลา 08.00 น.
พระเดชพระคุณหลวงพ่อ #พระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล มอบหมายให้ พระเดชพระคุณ #พระศรีโพธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี #พระครูนิโครธบุญญากร เจ้าอาวาสวัดไทยนิโครธาราม และ #พระครูอุดมโพธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดอโยธยาราชธานี ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการฯ นำพระนวกโพธิออกรับบิณฑบาตโปรดชาวพุทธ เมืองกบิลพัสดุ์ ประเทศเนปาล
ด้วยพระนวกโพธิตามโครงการบรรพชา-อุปสมบท เพื่อปฏิบัติธรรม ณ แดนพุทธภูมิ น้อมถวายเป็นพุทธบูชา ระหว่างวันที่ 20 เดือนกรกฎาคม – 27 เดือนตุลาคม 2561 โดยในวันที่ 25 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561 พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา,หัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล เมตตาเป็นองค์ประธาน ให้การบรรพชา ณ ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ และอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย ก่อนที่พระนวกโพธิอยู่จำพรรษา ณ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ โดยได้รับการฝึกปฏิบัติทั้งภาคพระปริยัติธรรม พระปฏิบัติธรรม พระปฏิเวธธรรม ตามหลักสูตรการอบรมพระนวกโพธิของวัดไทยพุทธคยา
ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 10 – 15 เดือนกันยายน พ.ศ.2561 พระนวกโพธิเดินทางปฏิบัติธรรม ถวายเป็นพุทธบูชา ณ สถานที่ประสูติ ประเทศเนปาล โดยวันที่ 10-13 เดือนกันยายน 2561 เข้าพักและปฏิบัติธรรม ณ วัดไทยลุมพินี และวันที่ 13-15 เดือนกันยายน 2561 เข้าพักและปฏิบัติธรรม ณ วัดพระราชวังกบิลพัสดุ์
ทั้งนี้ในช่วงเช้าของวันศุกร์ ที่ 14 เดือนกันยายน พ.ศ.2561 คณะพระนวกโพธิได้ออกรับบิณฑบาตโปรดชาวเมืองกบิลพัสดุ์ โดยได้เริ่มออกเดินจากบริเวณตัวเมืองกบิลพัสดุ์ ผ่านชุมชนชาวพุทธ (Taulihawa) ซึ่งมีชาวพุทธอาศัยอยู่จำนวนมาก และมีความตื่นตัวพร้อมร่วมกันออกมาใส่บาตร ซึ่งระยะทางเส้นทางราว 3 กิโลเมตร หนึ่งในพระนวกโพธิ พระไพฑูรย์ ติกฺขปญฺญโพธิ (สงค์แก้ว) อดีตอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี กล่าวถึงความประทับใจว่า 1.ทำให้ท่านน้อมระลึกถึงคราวที่พระพุทธองค์ทรงนำพระอรหันต์สาวกจำนวนมากบิณฑบาตโปรดเวไนยสัตว์ในกรุงกบิลพัสดุ์ 2.ทำให้รู้สึกประหนึ่งว่าได้ร่วมเดินตามเสด็จออกบิณฑบาตโปรดเวไนยสัตว์ดังกล่าวด้วย 3.รู้สึกประทับใจอย่างยิ่งกับศรัทธาของชาวกบิลพัสดุ์ที่ยังคงสืบสายสัมพันธ์กับองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เวลาจะได้ผ่านไปนานกว่า 2,500 ปี และ 4.เมื่อได้เห็นเด็กเล็กๆ และเยาวชนทั้งหลายทั้งชายหญิงได้แสดงออกซึ่งความศรัทธาต่อพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยเคารพอย่างยิ่งร่วมกันใส่บาตร ทำให้มีความรู้สึกว่าพระพุทธศาสนาได้รับการฟื้นฟูแล้วในระดับหนึ่ง และมีศักยภาพที่จะเจริญเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคตอย่างแน่นอน
หลังจากคณะพระนวกโพธิรับบิณฑบาตเสร็จได้เดินทางต่อไปยังพระราชวังกบิลพัสดุ์ เพื่อฉันภัตตาหารเพล พร้อมทั้งเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนา และฟังธรรมบรรยาย จากพระธรรมวิทยากร
ปัจจุบันกรุงกบิลพัสดุ์ เท่าที่ได้ค้นคว้ากันมาหลายๆท่านสรุปว่า เป็นบริเวณทั้งที่อยู่ในเนปาล และอินเดียบริเวณ ที่อยู่ในเนปาลเรียกว่า ติเลาราโกตจากลุมพินีไปทางทิศใต้ ประมาณ 27 กิโลเมตร อยู่ในบริเวณเขตปาเคเรียในเนปาล ตอนนี้มีเหลือเพียงซากโบราณสถานเท่านั้น และพบซากพระราชฐาน ปราสาทที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเคยใช้ชีวิตถึง 29 พรรษาและโบราณสถานอื่นๆ เมืองโบราณรกร้างแห่งหนึ่งชื่อติเลาราโกต หรือป้อมปราการแห่งติเลารา เมืองโบราณแห่งนี้ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกับเมืองกบิลพัสดุ์ ในเอกสารทางประวัติศาสตร์และคัมภีร์พุทธศาสนาหลายฉบับได้ระบุไว้ว่า ห่างออกไปทางทิศเหนือราว 16 กิโลเมตรคือเชิงเขาหิมาลัย มีสวนลุมพินีวันอยู่ทางทิศตะวันออก ในระยะ 35 กิโลเมตร ทิศตะวันตกมีแม่น้ำสายเล็กๆ สาขาของแม่น้ำคงคาไหลผ่าน ส่วนทางทิศใต้ คือตำแหน่งของเมืองโกติฮาวา เมืองโบราณที่ระบุไว้ในบันทึกพระถังซัมจั๋ง มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่ติเลาราโกตหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2442 จนถึงวันนี้ ได้พบหลักฐานมากมายที่ยืนยันความเป็นนครโบราณที่มีอายุเก่าแก่ก่อน พระพุทธเจ้า ประสูติถึง 100 ปี และเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 7 ก่อนนครแห่งนี้จะถูกทิ้งร้างไป
ความสำคัญของกรุงกบิลพัสดุ์ ไม่ได้จบลงพร้อมกับการเสด็จละทิ้งชีวิตในวังไปแสวงหาความหลุดพ้น แต่หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ระยะหนึ่ง พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาก็ได้นิมนต์พระพุทธองค์เสด็จนิวัติกรุงกบิลพัสดุ์ จากเมืองโบราณกบิลพัสดุ์ไปทางใต้ราว 5 กิโลเมตร ทีมนักโบราณคดียังได้พบสถานที่ที่ พระพุทธเจ้า เสด็จมาประทับที่เมืองกบิลพัสดุ์ โดยอ้างอิงจากตำแหน่งที่พระถังซัมจั๋งระบุไว้ในบันทึก และจากคัมภีร์ พุทธศาสนา เช่นกัน นั่นคือวัดนิโครธาราม พระสถูปที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศก ณ ตำแหน่งที่พระนางปชาบดีถวายผ้าสังฆาฏิแด่ พระพุทธเจ้า และได้บูรณะใหม่อีกครั้งในสมัยคุปตะ คือเมื่อราว 1,000 ปีหลังยุคพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับที่วัดนิโครธารามหลายครั้งและได้แสดงธรรมโปรดชาวกบิลพัสดุ์ จนกล่าวกันว่าในสมัยนั้นมีชาวกบิลพัสดุ์ ทั้งประชาชนและพระญาติในศากยวงศ์บวชเป็นพระสงฆ์นับหมื่นรูป
เมืองกบิลพัสดุ์จริงๆ แล้วอยู่ที่ไหน ในอินเดีย หรือเนปาล เป็นไปได้หรือไม่ว่าทั้งสองแห่งอยู่ในอาณาเขตของเมืองเดียวกัน โบราณสถานที่กานวาเรีย (Ganwaria) เป็นตำแหน่งที่กองโบราณคดีอินเดียเชื่อว่าคือพระราชวังและตัวเมืองกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของแคว้นสักกะ ซึ่งขุดพบเมื่อปี พ.ศ.2441 ปัจจุบันการขุดค้นยังคงดำเนินต่อไป หลังจากที่ได้พบอาคารขนาดใหญ่สร้างด้วยอิฐเผาสองหลัง นักโบราณคดี พบว่าโครงสร้างอิฐนี้สร้างเมื่อ 100 ปีก่อนพุทธกาล ถึงพุทธศักราชที่ 300 มีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยม มีลานกว้างตรงกลาง ล้อมรอบด้วยห้องขนาดเล็กทั้งสี่ด้านกว่า 20 ห้อง โบราณสถานหลังใหญ่นั้นเชื่อว่าเป็นพระราชวังกบิลพัสดุ์ กำแพงด้านตะวันออกของอาคารมีประตูใหญ่ที่อาจเป็นประตูที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกผนวช ปัจจุบัน นักโบราณคดี ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ คุณฎสันตาซึ่งเป็น นักโบราณคดี เนปาลบอกว่า กลุ่มโบราณสถานในเขตอินเดียนี้น่าจะเป็นวัดมากกว่าวัง เพราะวังควรจะอยู่ในย่านชุมชนเมือง แต่กลับไม่พบหลักฐานที่แสดงความเป็นชุมชนเมืองแต่อย่างใด ที่สำคัญ ได้พบแผ่นจารึกอักษรว่า กบิลพัสดุ์สังฆาราม ซึ่งอาจเป็นชื่อกลุ่มอารามสงฆ์แห่งนี้ก็ได้
ข่าว : พระครูอุดมโพธิวิเทศ
ภาพ : กองงานฝ่ายกิจการพิเศษ